ตรัง

ความเป็นมาของ เมืองตรัง นั้น เริ่มต้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพบหลักฐานคือจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบอกไว้ว่า ตรัง เป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช และหลักฐานอื่น ๆ ที่พบในเวลาต่อมา ทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยของวิวัฒนาการเมืองตรังได้เป็น 3 ช่วง คือ

1. สมัยตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี (พ.ศ. 2354-2436) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบหลักฐานจากทำเนียบกรมการเมืองตรังว่า พระอุไภยธานี ผู้ว่าราชการเมืองตรังคนแรก ได้สร้างหลักเมืองไว้ที่ควนธานี (อยู่ในอำเภอกันตังในปัจจุบัน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ 8 กิโลเมตร)

2. สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ. 2436-2458) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคนี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ท่านเห็นว่าที่ตั้งเมืองเดิมคือควนธานีนั้นอยู่ห่างจากฝั่งทะเลมาก จึงกราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่ตำบลกันตัง เพราะที่นี่เป็นชุมชนใหญ่ มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นเจ้าเมืองนี้เองที่ตรังได้รับ การพัฒนาไปอย่างมาก เช่น มีการนำต้นยางพาราจากมลายูมาปลูกเป็นครั้งแรก มีการตัดถนนจากตรังไปพัทลุง สร้างท่าเรือเพื่อรองรับการค้าขายกับต่างชาติ ฯลฯ นับเป็นยุครุ่งเรืองอย่างยิ่งเลยทีเดียว

3. สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ. 2458 จนถึงปัจจุบัน) ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองกันตังมีพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยจากอริราชศัตรู อีกทั้งมีการระบาดของไข้อหิวาตกโรค จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังในปัจจุบันนั่นเอง